พระมหาเจดีย์ชเวดากอง SHWEDAGON PAGODA พระมหาเจดีย์คู่เมืองย่างกุ้ง

 

พระมหาเจดีย์คู่เมืองย่างกุ้ง

 

     ฝนโปรยสายบาง และท้องฟ้าฉ่ำน้ำ ดูเหมือนจะเป็นสภาพอากาศปกติของเมืองย่างกุ้ง ดินแดนแถบนี้ฝนตกค่อนข้างชุก แม้ไม่ได้อยู่ในฤดูฝนก็ตาม เนื่องจากอ่าวเมาะตะมะอยู่ถัดลงไปทางใต้จากย่างกุ้งเพียง 32 กิโลเมตร บางคราวยามมีพายุเข้ามาจากเมืองจีน ย่างกุ้งก็พลอยได้รับลมมรสุมชุ่มฉ่ำไปกับเขาด้วย ทว่าฝนตกหรือฟ้าจะเป็นสีเทาปานใด ก็ไม่อาจลบรัศมีเรืองรองที่ฉายฉานมาจาก พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) ไปได้ ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองย่างกุ้งเท่านั้น หากแต่เจดีย์ชเวดากองที่สูงตระหง่านวันจากฐานถึงยอดได้ 99 เมตร และตั้งอยู่บน เนินสิงคุตตร (Singuttara) นี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศพม่าอีกด้วย


 

 

 

 

     ธรรมดาแล้วเจดีย์ชเวดากองไม่เคยว่างเว้นจากนักท่องเที่ยว หรือเหล่าผู้จาริกแสวงบุญ หากแต่วันที่ฝอยฝนโปรยละออง ผู้คนโดยรอบก็จะดูบางตาลงไป เปิดโอกาสให้เราได้ทัศนาองค์เจดีย์ได้อย่างชัดเจนในบรรยากาศสงบนิ่งทางขึ้นไปสักการะมหาเจดีย์มีทั้งหมดสี่ทิศ ทุกทิศมีลิฟท์ให้บริการ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ไม่อยากเดินขึ้นบันไดกว่าร้อยขั้นที่ปากทางจะมีพ่อค้าแม่ค้าชาวพม่ามาขายช่อดอกไม้ธูปเทียนสำหรับสักการะองค์พระเจดีย์ ราคาช่อละ 1,000 จ๊าด เทียบเป็นเงินไทยราวๆ 40 บาท นอกจากนั้นยังมีพวกอุบะสีขาวนวลสำหรับไหว้พระประจำวันเกิดอีกด้วย จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ตามแต่ศรัทธา

     สิ่งที่ลืมไม่ได้และต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเมื่อไปเที่ยววัดใดๆก็ตามในพม่าคือ ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า ถุงน่อง ออกเสียให้หมดตั้งแต่อยู่เขตนอกวัด เนื้อเท้าเปลือยเปล่าเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เหยียบย่างเข้าสู่เขตพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์

     เมื่อขึ้นสู่ลานเบื้องบนก็ให้ตะลึงกับความงามอลังการของมหาสถูปคู่เมืองพม่าซึงถูกขับให้มีพลังมากกว่าเดิมด้วยสิ่งปลูกสร้างกว่า 100 หลังโดยรอบ อาทิ วิหารทิศ วิหารราย สถูปบริวาร บางอาคารปลูกสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง ฉลุลายระเอียดงดงาม ตำนานเล่ากันมาว่าในวันที่ 50 หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ทรงได้พบกับนายวาณิชสองพี่น้องชาวพม่านามว่า ตปุสสะ (Taphussa) และ ภัลลิกะ (Bhallika) ทั้งสองคนถวาย ข้าว ขนม น้ำผึ้งแกพระสมณโคดม แล้วขอสิ่งแทนตัวเพื่อระลึกถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นลูบพระเศียร ได้เส้นพระเกศามาแปดเส้น จึงประทานแด่นายวาณิชทั้งสอง เมื่อพ่อค้าทั้งสองเดินทางกลับมาถึงพม่า ตกอยู่ในสมัยของ พระเจ้าโอกกลาปะ(Okkakalapa) ครองเมือง เมื่อทรงรู้ข่าวพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า จึงทรงจัดขบวนทหารพันนายและจัดงานยิ่งใหญ่เพื่อต้อนรับพระเกศาธาตุทั้งแปดนี้


 

 

 

 

     ตำนานเล่าสืบกันมาว่าเจดีย์ชเวดากองเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุแปดเส้นของพระพุทธเจ้า และพระบริโภคเจดีย์ของอดีตพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ประกอบด้วย ธารพระกร หรือ ไม้เท้า ของพระพุทธเจ้าองค์ที่หนึ่ง พระธมกรก หรือ เครื่องกรองน้ำ ของพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง และ จีวรของพระพุทธเจ้า องค์ที่สาม อีกทั้งยังมีแผ่นทองคำปิดทับเหนือที่บรรจุ

     จากนั้นสถูปหรือปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกสร้างบนเนินแห่งนี้ต่อๆกันมา เจดีย์หลายต่อหลายองค์ถูกสร้างครอบองค์เดิมชั้นแล้วชั้นเล่า องค์มหาเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงมอญสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ตกอยู่ในรัชสมัยของ พระนางชินสอบู (Shinsawbu) ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ.1453 – 1472 หรือ พ.ศ.1996 – 2015 พระนางทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงทรงพระราชทานทองคำน้ำหนักเท่าพระองค์ 40 กิโลกรัม หุ้มองค์เจดีย์

     รัชสมัยต่อมาปกครองโดย พระเจ้าธรรมเจดีย์ (Dhammazedi) ก็ทรงพระราชทานทองคำหนักสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง เพื่อนซ่อมแซมบูรณะมหาสถูป จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตกทอดสู่กษัตริย์รุ่นต่อๆมา จนกระทั่งปัจจุบันมีการหุ้มทองใหม่ทุกๆ 20 ปี บูรณะทองที่บ้างหลุดร่อนหรือบางลงอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ฝนตกชุกในแถบนี้
     เบื้องหน้าของลานอธิฐานคือองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากองในมุมกว้าง มองดูตระหง่านโอฬาริกข่มสิ่งรายรอบให้เล็กจ้อยอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ พระเจ้าบุเรงนอง ล้วนเคยก้มประนมกรขอพร ภานในเขตวงล้อมของดวงดาวนี้แล้วทั้งสิ้น เรากระถดตัวลงนั่งแล้วยกช่อบูชาอันประกอบด้วยใบปรารถนา อันมีความหมายว่าชัยชนะและความสำเร็จ ดอกบัว ดอกกุหลาบ ฉัตรเงินฉัตรทอง ธงศาสนาและธงประจำวันเกิดที่ซื้อมา 1,000 จ๊าดตั้งแต่ปากทาง ขึ้นคารวะ กลิ่นธูปควันเทียนที่ลอยกรุ่นในบริเวณนี้ อบอารมณ์ศักดิ์สิทธิ์ให้เพิ่มเท่าทวี


 

    หากมาสักการะองค์มหาเจดีย์ช่วงบ่ายแก่ๆ และอยู่จนพระอาทิตย์ลับฟ้า แนะนำให้ถามชาวพม่าแถวๆนั้นว่าจุดไหนกันหนอที่จะสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงสีสันอย่างน่ามหัศจรรย์ของเพชรนิลจินดาบนยอดมหาเจดีย์ แค่เราแหงนมองจากองศาที่ห่างกันเพียงครึ่งก้าว และประกายแห่งสีสันนั้นก็แลดูงามอย่างน่าพิศวง เมื่อมีผืนฟ้าสีน้ำเงินเข้มเป็นฉากตระหง่านอยู่เบื้องหลัง

ที่มา : http://www.culturaltravelguide.com/2012/04/shwedagon-pagoda-golden-statement-myanmar/
http://www.hoteltrip.com/travelblogs/2013/06/24/shwedagon-myanmar-burma-masterpiece/ 
http://leaveyourdailyhell.com/travel-guide/southeast-asia/myanmar/